สัญญาณอันตรายหากลูกคุณจิ้มแท็บเล็ตคล่องปรื๋อ

 

สัญญาณอันตรายหากลูกคุณจิ้มแท็บเล็ตคล่องปรื๋อ

 

 

ระวัง! การใช้เวลา อยู่หน้าจอ เล่นแทบเล็ต มากเกินไป ส่งผลกระทบด้านลบต่อพัฒนาการของลูกคุณด้านทักษะทางภาษา อารมณ์และสังคมโดยตรง!

แจ็ค (นามสมมติ) คือเด็กอายุ 2 ขวบชาวสิงคโปร์ จิ้มจอไอแพดเป็นตั้งแต่ยังเดินและพูดไม่ได้ ตั้งแต่อายุ 6 เดือน แจ็คก็อยู่กับหน้าจอนานถึง 30 นาทีต่อวันแล้ว จนอายุ 2 ขวบก็เพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 6 ชั่วโมง

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แจ็คติดหน้าจอขนาดนี้ อาจมาจากกระแสนิยมไอแพดที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2010 ซึ่งทำให้ชีวิตและวิถีการเล่นของเด็กๆเปลี่ยนไป

Dr Aishworiya Ramkumar ที่ปรึกษาแผนกพัฒนาการเด็กแห่งโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ (National University Hospital’s – NUH) ทำการวิจัยและพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนจำนวนกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มีพฤติกรรมติดจอ (เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต) ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว เด็กๆเล่นวันละกว่า 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว เมื่อเด็กเหล่านี้อายุ 2 ขวบ เด็กเกือบ 9 ใน 10 คน ก็ติดจอจนเป็นนิสัยเสียแล้ว

Dr Aishworiya ยังกล่าวอีกว่า ที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือ ผู้ปกครองส่วนมากไม่ตระหนักรู้ถึงอันตรายจากการที่เด็กเล็กๆเหล่านี้ใช้เวลากับจอมากเกินไปในแต่ละวัน จากแบบสอบถาม มีผู้ปกครองเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทราบถึงอันตรายข้อนี้ ส่วนอีกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ก็บอกเพียงว่า พวกเขาก็ดูแล และนั่งกับลูกด้วยทุกครั้งเวลาเด็กๆนั่งหน้าจอ

จากการวิจัยพบว่า พฤติกรรมการใช้จอมากเกินไปส่งผลเสียโดยตรงต่อพัฒนาการเด็ก เพิ่มปัจจัยเสี่ยงเรื่องสมาธิสั้นและทำให้ทักษะทางภาษาแย่ลง

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับพฤติกรรมติดจอในเด็กเล็กจากโครงการ Better Internet ของ Media Literacy Council ว่า จากการวิจัยที่นำออกเผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2017) ที่งาน 2017 Paediatric Academic Societies Meeting เผยว่า ยิ่งเด็กเล็กใช้เวลาไปกับหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะประสบปัญหาการพูดช้ามากขึ้นเท่านั้น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ผู้ศึกษาข้อมูลจากการตรวจสุขภาพของเด็กเมื่ออายุได้ 18 เดือนจำนวนกว่า 900 คน ก็พบเช่นกันว่าการที่เด็กเพิ่มจำนวนการเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตมากขึ้นทุกๆ 30 นาที ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาพัฒนาการด้านการพูดและการโต้ตอบก็เพิ่มมากขึ้นถึงอีก 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ผลกระทบจากการติดจอ

ในขณะที่ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการที่บันทึกข้อมูลพฤติกรรมการติดจอของเด็กเล็กนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็กเล็กได้บอกกับ TODAY ว่า พวกเขากำลังศึกษาถึงผลกระทบชุดแรกที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีพฤติกรรมติดจอ

ปัญหาด้านพัฒนาการสำคัญของกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน ที่ใช้สังเกตุในการศึกษาชุดนี้ได้แก่ พัฒนาการทางภาษาและทักษะทางสังคม โดยในที่นี้จะกล่าวถึงแจ็ค แจ็คคือคนไข้ของคุณหมอเจนนิเฟอร์ คิอิง ที่ปรึกษาอาวุโสแผนกพัฒนาการเด็กของโรงพยาบาล NHU ที่สิงคโปร์ คุณหมอกล่าวว่า

“ตอนที่หมอพบเด็กคนนี้ครั้งแรก เขาก็มีพฤติกรรมติดจออยู่ถึงวันละ 6 ชั่วโมงด้วยกัน เขาไม่สามารถพูดออกมาเป็นคำที่มีความหมายได้เลย ไม่ค่อยสบตา ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อได้อย่างสม่ำเสมอเท่าที่ควร และมีสมาธิที่สั้นกว่าปกติ”

คุณฟิโอนา วอล์คเกอร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหารและครูใหญ่โรงเรียนจูเลีย กาบริเอล กล่าวว่า ทุกวันนี้เด็กเล็กที่อายุยังไม่ถึง 3 ขวบส่วนใหญ่ ไม่ค่อยกล้าพูดคุยหรือแสดงออกกับผู้ใหญ่มากเท่าแต่ก่อน

“ก่อนลงทะเบียนเรียน คุณครูของเรามักชวนเด็กๆพูดคุยอย่างเป็นกันเองก่อน เพื่อที่จะประเมินทักษะการสนทนาของเด็กว่าเป็นอย่างไร ในช่วงสองปีมานี้ ทุกๆศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กของเรา พบตรงกันว่า เด็กเล็กเหล่านี้ไม่ค่อยช่างคุยเหมือนเด็กรุ่นก่อนๆ ดูเหมือนว่า เด็กรุ่นหลังๆมานี้เคยชินและมีพฤติกรรมติดจอตั้งแต่ยังเล็กมากกว่าเด็กรุ่นก่อน” คุณวอล์คเกอร์กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า หากปล่อยให้พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปโดยไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม พฤติกรรมติดจอนี้ จะส่งผลต่อพัฒนาการองค์รวมและสุขภาพของทารกและเด็กเล็กได้ในระยะยาว

อ้างอิงจากคุณหมอคิอิง สมองของเด็กเกิดใหม่มีอัตราการเติบโตเป็นสามเท่าในช่วงสามปีแรกของชีวิต และการเรียนรู้จากสิ่งต่างๆในช่วงนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อสมองในการเติบโตจนถึงเป็นผู้ใหญ่เลยทีเดียว

อะไรที่เด็กใกล้ชิดและสัมผัสมากช่วงปีแรกๆของชีวิต มักส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการองค์รวมของเด็กคนนั้นๆเสมอ Dr Daniel Fung, chairman of the Medical Board at the Institute of Mental Health กล่าว

“คุณอาจจะบอกว่า โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตมีประโยชน์กับเด็ก เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กมีโอกาสได้รู้จักและโต้ตอบกับสิ่งใหม่ๆได้มากขึ้น แต่ปัญหาก็คือ สิ่งที่จอให้ โดยเฉพาะในเด็กที่เล็กมากๆ ก็คือมุมมองต่อโลกและสิ่งต่างๆรอบตัวที่แคบมาก เป็นการแย่งเวลาจากกิจวัตรประจำวันที่เด็กควรจะได้ใช้เวลาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมและผู้คนต่างๆรอบตัวไปอย่างสิ้นเชิง” Dr Fung กล่าว

“หลักการง่ายๆเลยก็คือ การใช้เวลาไปกับหน้าจอมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจ แม้จะเล่นกีฬาสักสิบชั่วโมง เพื่อทดแทนเวลาสิบชั่วโมงที่เสียไปกับการเล่นแท็บเล็ต แต่มันก็ไม่อาจชดเชยทักษะหรือพัฒนาการที่เสียไปแล้วได้” Dr Fung เสริม

หรือควรห้ามเด็กอายุก่อน 2 ขวบติดจอทุกชนิด

 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็คิดว่าอาจจะยังพอผ่อนผันให้ได้บ้าง เด็กจะได้มีโอกาสสัมผัสกับเทคโนโลยียุคดิจิตอลที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งได้บ้าง

ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ที่วิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกัน (The American Academy of Paediatrics) ได้ผ่อนผันกฎ “ห้ามเล่นจอก่อนอายุ 2 ขวบ” เป็นการอนุญาตให้ผู้ปกครองเด็กอายุ 18 - 24 เดือน อาจให้เด็กเล่นแท็บเล็ตหรือดูโทรทัศน์ได้ แต่ต้องเป็นรายการ โปรแกรม หรือ แอพลิเคชั่นที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับช่วงวัยเด็ก และตัวผู้ปกครองเอง จะต้องนั่งอยู่กับเด็กตลอดเวลาที่ใช้จอด้วย

อย่างไรก็ตาม Dr Kiing ยังคงยืนยันว่า เครื่องมืออิเล็คโทรนิคส์ทุกชนิดไม่ควรมีส่วนหรือเข้ามาในชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ “จะมีโปรแกรมอะไรที่เราจะมั่นใจได้ว่าเป็นโปรแกรมหรือรายการที่ ‘เหมาะสม’ ไปกว่าการเล่นหรือการพูดคุยทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับตัวเด็กโดยตรง แทนที่จะนั่งดูรายการทีวีหรือแท็บเล็ตไปกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบเพียงอย่างเดียว จะดีกว่าไหมถ้าพ่อแม่และตัวเด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันโดยตรง” เธอกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น แอพลิเคชั่นและรายการดิจิตอลต่างๆที่โฆษณาว่าเพื่อ “การศึกษา” ก็ไม่ได้มีผลการวิจัยรองรับว่ามันเหมาะสมกับเด็กอายุต่ำกว่าสองขวบจริงๆ แม้แต่รายการทีวีบางรายการเช่น Sesame Street ก็ยังเหมาะสมและมีประโยชน์แต่กับเด็กที่อายุห้าขวบขึ้นไปเท่านั้น

“เด็กเล็กวัยเตาะแตะที่รู้วิธีสไลด์หน้าจอและใส่รหัสผ่านสี่หลักได้ ไม่ใช่เด็กอัจฉริยะ และถ้าติดจอโดยไม่ได้มีการควบคุมเวลาการใช้งานอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นเด็กที่มีปัญหาและเสี่ยงต่อพัฒนาการด้านการพูดช้ากว่าวัย รวมไปถึงปัญหาด้านสติปัญญาและสมาธิ” Dr Kiing เตือน

Dr Fung กล่าวว่า เกมและสื่อต่างๆถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ดึงดูดผู้เล่นหรือผู้ชมให้เสพย์ติดเกมและสื่อต่างๆเหล่านั้นนั่นเอง

“การปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตติดหน้าจอมากเกินไป จะทำให้เกิดการเสพติดซึ่งจะส่งผลให้เด็กถูกกระตุ้นมากเกินไปด้วยเช่นกัน” คุณหมอบอก “หากเด็กเล็กๆอยากใช้เวลาอยู่กับจอมากกว่าอยู่กับผู้คน นั่นจะถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อพัฒนาการของเด็กเลย”

ผู้ดูแลเด็กควรมีความสามารถหรือทักษะที่จำเป็นต่อการส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น นางสาว Tan Peng Chian, ผู้ช่วยผู้อำนวยการแห่งศูนย์ AWWA Early Intervention กล่าว

ทารกและเด็กเล็กจะเจริญเติบโตและเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อได้รับการเลี้ยงดูและอบรมบ่มนิสัยจากพ่อแม่หรือผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดูไปในเชิงบวกด้วย หากพ่อแม่ผู้ปกครองยุ่งกับการทำงานจนไม่มีเวลา ทางเลือกที่ดีที่สุดก็เป็นการให้เด็กเล่นของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเขา โดยอยู่ในห้องหรือสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย Dr Kiing กล่าว

  • แม้แต่เด็กโต พฤติกรรมการเล่นแท็บเล็ตหรือการติดจอก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การควบคุมและสอดส่องดูแลของผู้ปกครองก็ยังเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน

“การที่ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น เนื้อหาที่มีความรุนแรงและความก้าวร้าวจะส่งผลให้เด็กที่คลุกคลีกับสื่อหรือเนื้อหาประเภทนี้ โดยไม่ได้รับการชี้นำหรือสั่งสอนอย่างถูกต้อง ให้กลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ คือมีอารมณ์รุนแรงหรือก้าวร้าวขึ้นมาได้” Dr Fung กล่าว

ข้อแนะนำสำหรับการเล่นจอของเด็ก

ข้อแนะนำสำหรับการให้เด็กเล่นแท็บเล็ตของ AAP ได้แก่

  • ทารกหรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการเสพย์สื่อจากจอทุกชนิดยกเว้นการโทรศัพท์แบบเห็นหน้ากับคนในครอบครัว
  • เด็กวัยเตาะแตะอายุตั้งแต่ 18 – 24 เดือน ควรเลือกดูเฉพาะรายการหรือโปรแกรมที่เหมาะสมกับวัยเด็ก และผู้ปกครองควรนั่งดูกับเด็กอย่างใกล้ชิด โดยสอนและชวนเด็กคุยถึงสิ่งที่กำลังเล่นหรือดูอยู่ไปด้วย
  • เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 2 – 5 ปี ควรกำหนดไม่ให้นั่งหน้าจอนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ปกครองก็ควรดูแลใกล้ชิดระหว่างการเล่น และเลือกแต่โปรแกรมหรือสื่อที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับวัย
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ผู้ปกครองควรกำหนดเวลาชัดเจนในการใช้แท็บเล็ตและกำหนดประเภทของสื่อที่เด็กจะรับชมหรือเล่น เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เบียดบังเวลานอนของเด็ก หรือกิจกรรมอื่นๆที่ดีต่อสุขภาพ เช่นกีฬา

พบข้อมูลหรือข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์อื่นๆเพื่อป้องกันพฤติกรรมเด็กติดจอได้ที่ www.betterinternet.sg

ลูกๆวัยก่อนเข้าเรียนของคุณเข้าข่ายมีพฤติกรรมติดจอหรือไม่

ลองสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ดู ว่าลูกคุณเข้าข่ายมีพฤติกรรมติดจอหรือไม่

  • งอแงหนักมากทุกครั้งที่คุณยึดแท็บเล็ตคืน
  • ว่างเป็นไม่ได้ จะต้องหาเวลา หาช่องเพื่อจะเล่นหรือดูแท็บเล็ตตลอดเวลา
  • โมโหเกรี้ยวกราดง่ายเวลาไม่ได้ดูแท็บเล็ต
  • เมื่อถูกสั่งให้หยุดเล่น มักอ้อนวอนหรือต่อรองเพื่อให้ได้เล่นแท็บเล็ตได้นานขึ้น
  • ผลการเรียนแย่ลง
  • ไม่ค่อยสนใจหรือใส่ใจต่อสิ่งรอบตัว

ขอบคุณข้อมูลจาก Dr Jennifer Kiing, Child Development Unit, National University Hospital

และเว็บไซต์ http://www.todayonline.com/daily-focus/your-toddler-trouble-if-hes-ipad-genius

 

Contact Us

หากคุณสนใจคอร์สหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อเราได้เลย

BrainFit Studio Thailand ชั้น 2, อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์,
สุขุมวิทซอย 2, กทม. 10110BTS สถานีเพลินจิต ทางออก 4