สัญญาณอันตรายหากลูกคุณจิ้มแท็บเล็ตคล่องปรื๋อ

 

สัญญาณอันตรายหากลูกคุณจิ้มแท็บเล็ตคล่องปรื๋อ

 

 

ระวัง! การใช้เวลา อยู่หน้าจอ เล่นแทบเล็ต มากเกินไป ส่งผลกระทบด้านลบต่อพัฒนาการของลูกคุณด้านทักษะทางภาษา อารมณ์และสังคมโดยตรง!

แจ็ค (นามสมมติ) คือเด็กอายุ 2 ขวบชาวสิงคโปร์ จิ้มจอไอแพดเป็นตั้งแต่ยังเดินและพูดไม่ได้ ตั้งแต่อายุ 6 เดือน แจ็คก็อยู่กับหน้าจอนานถึง 30 นาทีต่อวันแล้ว จนอายุ 2 ขวบก็เพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 6 ชั่วโมง

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แจ็คติดหน้าจอขนาดนี้ อาจมาจากกระแสนิยมไอแพดที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2010 ซึ่งทำให้ชีวิตและวิถีการเล่นของเด็กๆเปลี่ยนไป

Dr Aishworiya Ramkumar ที่ปรึกษาแผนกพัฒนาการเด็กแห่งโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ (National University Hospital’s – NUH) ทำการวิจัยและพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนจำนวนกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มีพฤติกรรมติดจอ (เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต) ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว เด็กๆเล่นวันละกว่า 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว เมื่อเด็กเหล่านี้อายุ 2 ขวบ เด็กเกือบ 9 ใน 10 คน ก็ติดจอจนเป็นนิสัยเสียแล้ว

Dr Aishworiya ยังกล่าวอีกว่า ที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือ ผู้ปกครองส่วนมากไม่ตระหนักรู้ถึงอันตรายจากการที่เด็กเล็กๆเหล่านี้ใช้เวลากับจอมากเกินไปในแต่ละวัน จากแบบสอบถาม มีผู้ปกครองเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทราบถึงอันตรายข้อนี้ ส่วนอีกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ก็บอกเพียงว่า พวกเขาก็ดูแล และนั่งกับลูกด้วยทุกครั้งเวลาเด็กๆนั่งหน้าจอ

จากการวิจัยพบว่า พฤติกรรมการใช้จอมากเกินไปส่งผลเสียโดยตรงต่อพัฒนาการเด็ก เพิ่มปัจจัยเสี่ยงเรื่องสมาธิสั้นและทำให้ทักษะทางภาษาแย่ลง

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับพฤติกรรมติดจอในเด็กเล็กจากโครงการ Better Internet ของ Media Literacy Council ว่า จากการวิจัยที่นำออกเผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2017) ที่งาน 2017 Paediatric Academic Societies Meeting เผยว่า ยิ่งเด็กเล็กใช้เวลาไปกับหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะประสบปัญหาการพูดช้ามากขึ้นเท่านั้น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ผู้ศึกษาข้อมูลจากการตรวจสุขภาพของเด็กเมื่ออายุได้ 18 เดือนจำนวนกว่า 900 คน ก็พบเช่นกันว่าการที่เด็กเพิ่มจำนวนการเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตมากขึ้นทุกๆ 30 นาที ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาพัฒนาการด้านการพูดและการโต้ตอบก็เพิ่มมากขึ้นถึงอีก 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ผลกระทบจากการติดจอ

ในขณะที่ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการที่บันทึกข้อมูลพฤติกรรมการติดจอของเด็กเล็กนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็กเล็กได้บอกกับ TODAY ว่า พวกเขากำลังศึกษาถึงผลกระทบชุดแรกที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีพฤติกรรมติดจอ

ปัญหาด้านพัฒนาการสำคัญของกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน ที่ใช้สังเกตุในการศึกษาชุดนี้ได้แก่ พัฒนาการทางภาษาและทักษะทางสังคม โดยในที่นี้จะกล่าวถึงแจ็ค แจ็คคือคนไข้ของคุณหมอเจนนิเฟอร์ คิอิง ที่ปรึกษาอาวุโสแผนกพัฒนาการเด็กของโรงพยาบาล NHU ที่สิงคโปร์ คุณหมอกล่าวว่า

“ตอนที่หมอพบเด็กคนนี้ครั้งแรก เขาก็มีพฤติกรรมติดจออยู่ถึงวันละ 6 ชั่วโมงด้วยกัน เขาไม่สามารถพูดออกมาเป็นคำที่มีความหมายได้เลย ไม่ค่อยสบตา ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อได้อย่างสม่ำเสมอเท่าที่ควร และมีสมาธิที่สั้นกว่าปกติ”

คุณฟิโอนา วอล์คเกอร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหารและครูใหญ่โรงเรียนจูเลีย กาบริเอล กล่าวว่า ทุกวันนี้เด็กเล็กที่อายุยังไม่ถึง 3 ขวบส่วนใหญ่ ไม่ค่อยกล้าพูดคุยหรือแสดงออกกับผู้ใหญ่มากเท่าแต่ก่อน

“ก่อนลงทะเบียนเรียน คุณครูของเรามักชวนเด็กๆพูดคุยอย่างเป็นกันเองก่อน เพื่อที่จะประเมินทักษะการสนทนาของเด็กว่าเป็นอย่างไร ในช่วงสองปีมานี้ ทุกๆศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กของเรา พบตรงกันว่า เด็กเล็กเหล่านี้ไม่ค่อยช่างคุยเหมือนเด็กรุ่นก่อนๆ ดูเหมือนว่า เด็กรุ่นหลังๆมานี้เคยชินและมีพฤติกรรมติดจอตั้งแต่ยังเล็กมากกว่าเด็กรุ่นก่อน” คุณวอล์คเกอร์กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า หากปล่อยให้พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปโดยไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม พฤติกรรมติดจอนี้ จะส่งผลต่อพัฒนาการองค์รวมและสุขภาพของทารกและเด็กเล็กได้ในระยะยาว

อ้างอิงจากคุณหมอคิอิง สมองของเด็กเกิดใหม่มีอัตราการเติบโตเป็นสามเท่าในช่วงสามปีแรกของชีวิต และการเรียนรู้จากสิ่งต่างๆในช่วงนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อสมองในการเติบโตจนถึงเป็นผู้ใหญ่เลยทีเดียว

อะไรที่เด็กใกล้ชิดและสัมผัสมากช่วงปีแรกๆของชีวิต มักส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการองค์รวมของเด็กคนนั้นๆเสมอ Dr Daniel Fung, chairman of the Medical Board at the Institute of Mental Health กล่าว

“คุณอาจจะบอกว่า โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตมีประโยชน์กับเด็ก เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กมีโอกาสได้รู้จักและโต้ตอบกับสิ่งใหม่ๆได้มากขึ้น แต่ปัญหาก็คือ สิ่งที่จอให้ โดยเฉพาะในเด็กที่เล็กมากๆ ก็คือมุมมองต่อโลกและสิ่งต่างๆรอบตัวที่แคบมาก เป็นการแย่งเวลาจากกิจวัตรประจำวันที่เด็กควรจะได้ใช้เวลาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมและผู้คนต่างๆรอบตัวไปอย่างสิ้นเชิง” Dr Fung กล่าว

“หลักการง่ายๆเลยก็คือ การใช้เวลาไปกับหน้าจอมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจ แม้จะเล่นกีฬาสักสิบชั่วโมง เพื่อทดแทนเวลาสิบชั่วโมงที่เสียไปกับการเล่นแท็บเล็ต แต่มันก็ไม่อาจชดเชยทักษะหรือพัฒนาการที่เสียไปแล้วได้” Dr Fung เสริม

หรือควรห้ามเด็กอายุก่อน 2 ขวบติดจอทุกชนิด

 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็คิดว่าอาจจะยังพอผ่อนผันให้ได้บ้าง เด็กจะได้มีโอกาสสัมผัสกับเทคโนโลยียุคดิจิตอลที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งได้บ้าง

ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ที่วิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกัน (The American Academy of Paediatrics) ได้ผ่อนผันกฎ “ห้ามเล่นจอก่อนอายุ 2 ขวบ” เป็นการอนุญาตให้ผู้ปกครองเด็กอายุ 18 - 24 เดือน อาจให้เด็กเล่นแท็บเล็ตหรือดูโทรทัศน์ได้ แต่ต้องเป็นรายการ โปรแกรม หรือ แอพลิเคชั่นที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับช่วงวัยเด็ก และตัวผู้ปกครองเอง จะต้องนั่งอยู่กับเด็กตลอดเวลาที่ใช้จอด้วย

อย่างไรก็ตาม Dr Kiing ยังคงยืนยันว่า เครื่องมืออิเล็คโทรนิคส์ทุกชนิดไม่ควรมีส่วนหรือเข้ามาในชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ “จะมีโปรแกรมอะไรที่เราจะมั่นใจได้ว่าเป็นโปรแกรมหรือรายการที่ ‘เหมาะสม’ ไปกว่าการเล่นหรือการพูดคุยทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับตัวเด็กโดยตรง แทนที่จะนั่งดูรายการทีวีหรือแท็บเล็ตไปกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบเพียงอย่างเดียว จะดีกว่าไหมถ้าพ่อแม่และตัวเด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันโดยตรง” เธอกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น แอพลิเคชั่นและรายการดิจิตอลต่างๆที่โฆษณาว่าเพื่อ “การศึกษา” ก็ไม่ได้มีผลการวิจัยรองรับว่ามันเหมาะสมกับเด็กอายุต่ำกว่าสองขวบจริงๆ แม้แต่รายการทีวีบางรายการเช่น Sesame Street ก็ยังเหมาะสมและมีประโยชน์แต่กับเด็กที่อายุห้าขวบขึ้นไปเท่านั้น

“เด็กเล็กวัยเตาะแตะที่รู้วิธีสไลด์หน้าจอและใส่รหัสผ่านสี่หลักได้ ไม่ใช่เด็กอัจฉริยะ และถ้าติดจอโดยไม่ได้มีการควบคุมเวลาการใช้งานอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นเด็กที่มีปัญหาและเสี่ยงต่อพัฒนาการด้านการพูดช้ากว่าวัย รวมไปถึงปัญหาด้านสติปัญญาและสมาธิ” Dr Kiing เตือน

Dr Fung กล่าวว่า เกมและสื่อต่างๆถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ดึงดูดผู้เล่นหรือผู้ชมให้เสพย์ติดเกมและสื่อต่างๆเหล่านั้นนั่นเอง

“การปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตติดหน้าจอมากเกินไป จะทำให้เกิดการเสพติดซึ่งจะส่งผลให้เด็กถูกกระตุ้นมากเกินไปด้วยเช่นกัน” คุณหมอบอก “หากเด็กเล็กๆอยากใช้เวลาอยู่กับจอมากกว่าอยู่กับผู้คน นั่นจะถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อพัฒนาการของเด็กเลย”

ผู้ดูแลเด็กควรมีความสามารถหรือทักษะที่จำเป็นต่อการส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น นางสาว Tan Peng Chian, ผู้ช่วยผู้อำนวยการแห่งศูนย์ AWWA Early Intervention กล่าว

ทารกและเด็กเล็กจะเจริญเติบโตและเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อได้รับการเลี้ยงดูและอบรมบ่มนิสัยจากพ่อแม่หรือผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดูไปในเชิงบวกด้วย หากพ่อแม่ผู้ปกครองยุ่งกับการทำงานจนไม่มีเวลา ทางเลือกที่ดีที่สุดก็เป็นการให้เด็กเล่นของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเขา โดยอยู่ในห้องหรือสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย Dr Kiing กล่าว

  • แม้แต่เด็กโต พฤติกรรมการเล่นแท็บเล็ตหรือการติดจอก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การควบคุมและสอดส่องดูแลของผู้ปกครองก็ยังเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน

“การที่ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น เนื้อหาที่มีความรุนแรงและความก้าวร้าวจะส่งผลให้เด็กที่คลุกคลีกับสื่อหรือเนื้อหาประเภทนี้ โดยไม่ได้รับการชี้นำหรือสั่งสอนอย่างถูกต้อง ให้กลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ คือมีอารมณ์รุนแรงหรือก้าวร้าวขึ้นมาได้” Dr Fung กล่าว

ข้อแนะนำสำหรับการเล่นจอของเด็ก

ข้อแนะนำสำหรับการให้เด็กเล่นแท็บเล็ตของ AAP ได้แก่

  • ทารกหรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการเสพย์สื่อจากจอทุกชนิดยกเว้นการโทรศัพท์แบบเห็นหน้ากับคนในครอบครัว
  • เด็กวัยเตาะแตะอายุตั้งแต่ 18 – 24 เดือน ควรเลือกดูเฉพาะรายการหรือโปรแกรมที่เหมาะสมกับวัยเด็ก และผู้ปกครองควรนั่งดูกับเด็กอย่างใกล้ชิด โดยสอนและชวนเด็กคุยถึงสิ่งที่กำลังเล่นหรือดูอยู่ไปด้วย
  • เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 2 – 5 ปี ควรกำหนดไม่ให้นั่งหน้าจอนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ปกครองก็ควรดูแลใกล้ชิดระหว่างการเล่น และเลือกแต่โปรแกรมหรือสื่อที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับวัย
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ผู้ปกครองควรกำหนดเวลาชัดเจนในการใช้แท็บเล็ตและกำหนดประเภทของสื่อที่เด็กจะรับชมหรือเล่น เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เบียดบังเวลานอนของเด็ก หรือกิจกรรมอื่นๆที่ดีต่อสุขภาพ เช่นกีฬา

พบข้อมูลหรือข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์อื่นๆเพื่อป้องกันพฤติกรรมเด็กติดจอได้ที่ www.betterinternet.sg

ลูกๆวัยก่อนเข้าเรียนของคุณเข้าข่ายมีพฤติกรรมติดจอหรือไม่

ลองสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ดู ว่าลูกคุณเข้าข่ายมีพฤติกรรมติดจอหรือไม่

  • งอแงหนักมากทุกครั้งที่คุณยึดแท็บเล็ตคืน
  • ว่างเป็นไม่ได้ จะต้องหาเวลา หาช่องเพื่อจะเล่นหรือดูแท็บเล็ตตลอดเวลา
  • โมโหเกรี้ยวกราดง่ายเวลาไม่ได้ดูแท็บเล็ต
  • เมื่อถูกสั่งให้หยุดเล่น มักอ้อนวอนหรือต่อรองเพื่อให้ได้เล่นแท็บเล็ตได้นานขึ้น
  • ผลการเรียนแย่ลง
  • ไม่ค่อยสนใจหรือใส่ใจต่อสิ่งรอบตัว

ขอบคุณข้อมูลจาก Dr Jennifer Kiing, Child Development Unit, National University Hospital

และเว็บไซต์ http://www.todayonline.com/daily-focus/your-toddler-trouble-if-hes-ipad-genius

 

Contact Us

If you would like to have your child attend our course, or you would simply like more information, please contact us today.

BrainFit Studio Thailand 2nd floor, Ploenchit Center,
Sukhumvit Soi 2, Bangkok 10110BTS Ploenchit Station Exit 4